วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อาหารแช่แข็ง (Frozen Food)

อาหารแช่แข็ง...กินอย่างไรไม่ให้เกิดโทษ
25 พ.ย. 2552 - 22:13

ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ต้องเร่งรีบ เน้นความสะดวก รวดเร็วในทุกๆ เรื่องของการดำเนินชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งเรื่องของอาหารการกิน ดังนั้นรูปแบบการบริโภคของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเมืองจึงเปลี่ยนไป หันมานิยมอาหารกระป๋อง และอาหารแช่แข็งกันมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการเรื่องสะดวกและรวดเร็วได้อย่างลงตัว

อาหารแช่แข็ง (Frozen Food) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการถนอมอาหาร โดยการเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศา ซึ่งมีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และทำให้ปฏิกิริยาทางเคมีต่างๆ ช้าลง เพื่อยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาให้นานขึ้น โดยที่ยังคงรสชาติของอาหารไว้ โดยเฉพาะอาหารสด เช่น กุ้ง เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ปลา เป็นต้น โดยเทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้สามารถรักษาคุณค่าของอาหารไว้ให้มากที่สุด

อาหารแช่งแข็งที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันมี 2 ประเภท ได้แก่
  • อาหารแช่แข็งพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) เป็นอาหารสดแช่แข็ง ซึ่งผ่านกระบวนการจัดเตรียมต่างๆ เช่น การทำความสะอาด ปอกเปลือก ถอดก้าง หั่นแล่เป็นชิ้นขนาดพอเหมาะ เพื่อให้อาหารนั้นพร้อมที่จะนำไปปรุงอาหารได้ทันที ซึ่งวิธีการนำไปใช้ ก็เพียงแค่นำออกจากช่องแช่แข็ง มาเข้าไมโครเวฟ ใช้โปรแกรม “ละลาย” หรือจะวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง หรือแช่น้ำ พอให้อาหารจับดูพอนิ่ม ก็สามารถนำไปปรุงอาหารได้ทันที
  • อาหารแช่แข็งพร้อมทาน (Ready-to-Eat) เป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงสุก และปรุงรสต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงนำมาแช่แข็ง เพื่อเก็บรักษาความสด อร่อย และคุณค่าทางอาหารไว้ในตัวอาหาร ให้ความสะดวกสูงสุดในการเตรียมอาหาร เพียงนำไปเข้าไมโครเวฟ เลือกระดับไฟแรงสูงสุด ประมาณ 4 – 5 นาที ก็พร้อมรับประทานได้ทันที

ความจริงแล้วอาหารแช่แข็งนั้นต้องผ่านกระบวนการแช่แข็ง ซึ่งสามารถเก็บรักษาเก็บความสด และคุณค่าทางอาหารได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งทุกขั้นตอนนั้นจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตสินค้าอาหาร (GMP) และระบบประกันคุณภาพเพื่อผลิตสินค้าอาหารที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค (HACCP) ฉะนั้น จึงมั่นใจได้ว่าอาหารแช่แข็งนั้นมีความสดเทียบเท่า หรืออาจจะมากกว่าอาหารสดทั่วไปด้วยซ้ำ แต่อันตรายจากอาหารแช่แข็งนั้นอาจเกิดขึ้นได้หากผู้บริโภคไม่อ่านฉลากให้ถี่ถ้วน ตลอดจนเก็บรักษา, ละลาย และนำไปบริโภคอย่างผิดวิธี ซึ่งอันตรายที่พบโดยส่วนใหญ่มีดังนี้
  1. สารโพลีฟอสเฟต (Polyphosphates) ช่วยให้อาหารชุ่มชื้นอยู่ได้นาน มักใส่ในแฮมและเนื้อสัตว์แช่แข็ง สารโพลีฟอสเฟตสามารถถูกย่อยสลายเป็นฟอสเฟตโมเลกุลเล็กๆ ที่ร่างกายดูดซึมได้เหมือนกับร่างกายย่อยฟอสเฟตตามธรรมชาติและเป็นอันตรายต่อร่างกายน้อยมาก อย่างไรก็ตามอาหารแช่แข็งที่มีปริมาณสารโพลีฟอสเฟตมากเกินไปจะก่อให้เกิดอันตราย ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนังได้ ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภคควรทำความสะอาดอาหารแช่แข็งโดยการล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนนำไปบริโภคทุกครั้ง
  2. ท้องเสีย หรือ ท้องร่วงรุนแรงจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในอาหารที่ปรุงไม่สุก อาทิ คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์, เชื้ออีโคไล,และซาลโมเนลลา เป็นต้น อาหารแช่แข็งบางประเภทนั้นยังไม่ผ่านกรรมวิธีการทำให้สุก ถึงแม้จะมีรูปลักษณ์เหมือนกับสุกแล้ว ดังนั้นผู้บริโภคควรจะต้องอ่านฉลากที่กำกับมาบนกล่องอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม การใช้ไมโครเวฟมักจะไม่สามารถทำให้อาหารสุกทั่วกันทั้งจาน จึงควรต้องตรวจสอบอุณหภูมิของอาหารทั้งจานเพื่อดูว่าอาหารนั้นร้อนได้ที่และสุกทั่วถึงดีแล้ว นอกจากจะต้องระวังเรื่องการปรุงอาหารให้สุกดีแล้วนั้น ขั้นตอนการละลายก็สำคัญ เพราะหากละลายไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เชื้อจุลินทรีย์เติบโตได้เช่นกัน
  3. สารละลายจากภาชนะพลาสติกสู่อาหาร ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและเบาหวานได้ เนื่องจากพลาสติกแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการทนความร้อนต่างกัน และพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารแช่แข็งนั้นจะทำมาจาก PE Film (Polyethylene) ซึ่งสามารถทนความเย็น แต่ทนความร้อนได้ไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส สารอันตรายที่พบว่าสะสมในร่างกายคือ สารไบฟีนอล เอ (Biphenol Aหรือ BPA) เป็นสารเคมีที่ใช้ทั่วไปในการผลิตภาชนะพลาสติก อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันอันตรายจากสารเคมีในพลาสติกได้ ดังนั้น ควรอ่านฉลากว่ากล่องที่บรรจุมานั้นสามารถใส่ไมโครเวฟได้เลยหรือไม่ ไม่ควรนำพลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียวกลับมาใช้ใหม่ และพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารต้องไม่มีสี

คำแนะนำสุดท้ายที่ข้อฝากไว้คือ ไม่ควรนำอาหารแช่แข็งที่ละลายแล้วกลับไปแช่แข็งใหม่ เนื่องจากคุณภาพของอาหารจะลดลง และการเก็บรักษาในช่องแช่แข็งของตู้เย็นที่บ้านนั้นมีอุณหภูมิไม่ต่ำเท่าที่ควร อาจก่อให้เกิดอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ได้ง่าย ซึ่งจุลินทรีย์นี้สามารถเติบโตได้ขณะทำการละลายครั้งแรก และหลังจากอาหารแช่แข็งละลาย ทั้งนี้ เมื่อละลายแล้วควรทานให้หมดหรือเก็บไว้ไม่เกิน 1-2 วันเท่านั้น

อาหารแช่แข็งไม่ได้ก่อให้เกิดโทษแต่อย่างไร หากผู้บริโภคอ่านฉลากที่ข้างกล่องและปฏิบิติตามอย่างถูกวิธี เพียงเท่านี้ก็อิ่มอร่อย สบายท้องกับอาหารที่มีคุณภาพแบบไม่เสียเวลากันแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไมโครเวฟ กับ อาหารแช่แข็ง

ระวัง! “เวฟ” อาหารแช่แข็ง

เสี่ยงภัยพลาสติกปนเปื้อน


ช่วงฝนตกแบบนี้ หนุ่มสาววัยทำงานตลอดจนนักเรียนนักศึกษา คงจะเคยฝากท้องไว้กับร้านอาหารสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ที่มีอยู่แทบทุกหัวระแหง และมีบริการขนม ของว่าง หรือกระทั่งอาหารกล่องแช่แข็งให้เลือกกันหลายเมนู เพียงจ่ายเงินแล้วให้พนักงานยัดอาหารกล่องแช่แข็งเมนูโปรดเข้าไปในเตาอบไมโครเวฟ ไม่กี่นาที อาหารแช่แข็งเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเมนูจานร้อนหอมฉุยพร้อมเสิร์ฟ...สุดสะดวกแบบนี้ มั่นใจว่าต้องมีคนใช้บริการไม่น้อยแน่ๆ


      
       แต่เท่าที่สังเกตพฤติกรรมการนำอาหารแช่แข็งเหล่านั้นเข้าเตาอบไมโครเวฟ ส่วนใหญ่มักจะคล้ายๆ กัน คือ หากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ก็มักจะฉีกซองออกเล็กน้อย หรือเจาะให้ทะลุเป็นรูๆ แล้วเอาเข้าอบทั้งหีบห่อพลาสติก แต่ถ้าหากเป็นอาหารชนิดของว่างประเภทซาลาเปา จะเอาออกจากห่อใหญ่ที่แช่แข็งไว้ แล้วนำมาใส่ในถุงพลาสติกใสอย่างหนา แล้วจึงนำเข้าอบทั้งพลาสติกดังกล่าว

      
       ...บางคนกินบ่อยจนรู้สึกชินตากับพฤติกรรมและรูปแบบของการอบอุ่นอาหารแช่แข็งเช่นนี้ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัย ของการอบอาหารทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ห่อหุ้มอยู่ ว่า ความปลอดภัยจากการปนเปื้อนนั้น มีมากน้อยแค่ไหน
      

       ขึ้นอยู่กับพลาสติก ว่ามันเป็นพลาสติกชนิดไหน ถ้าเป็นพลาสติกที่ได้มาตรฐาน และระบุชัดเจนว่า สามารถใช้อบในไมโครเวฟได้ อันนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหามันจะมาอยู่ที่พลาสติกที่ห่ออาหารนั้นๆ มันเป็นพลาสติกทนความร้อนที่สามารถใช้อบในไมโครเวฟได้ทุกชนิด ทุกยี่ห้อ ทุกผลิตภัณฑ์หรือเปล่า อันนี้เป็นประเด็นของร้านที่ต้องรับผิดชอบเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค
      

       รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการอธิบาย ก่อนจะขยายวงออกไปถึงเรื่องของการอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟในครัวเรือนด้วย
       และนอกจากที่เราอาจจะต้องเจออาหารแช่แข็งอุ่นทั้งพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อแล้ว โอกาสที่เราจะซื้อมาแช่ไว้ในตู้เย็นแล้วบริโภคกันในบ้านก็เป็นสิ่งที่หลายครอบครัวทำกัน เนื่องจากสะดวกรวดเร็ว
      

       รศ.ดร.วินัย กล่าวต่ออีกว่า บางบ้านอาจจะเลือกความสะดวกโดยการอุ่นทั้งบรรจุภัณฑ์อย่างที่เห็นพนักงานในร้านทำ แต่บางบ้านอาจจะใช้วิธีแกะออกจากพลาสติก ใส่จาน จากนั้นจึงทำไปเข้าไมโครเวฟเพราะคิดว่าปลอดภัยกว่า
      



       จริงๆ แล้วการเลือกภาชนะใส่อาหารเพื่อนำเข้าเตาอบไมโครเวฟก็ต้องเลือกดีๆ และยังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิดอยู่ ภาชนะที่ดีที่สุดในการใส่อาหารเข้าอบในไมโครเวฟ คือ ภาชนะถูกทำขึ้นเพื่อใช้ในการอบในเตาไมโครเวฟโดยเฉพาะ แต่หากไม่มีก็สามารถใช้จานกระเบื้องเนื้อหนาแทนก็ได้ ที่เห็นบ่อยๆ ก็คือคนมักจะใช้จานหรือชามกระเบื้อง แต่ไม่ได้คำนึงว่าเป็นจานชามเนื้อเกลี้ยงๆ หรือมีการวาดลายลงสี อันนี้อันตรายมาก เพราะจานชามกระเบื้องเนื้อหนาทนความร้อน และสามารถเอาเข้าไมโครเวฟได้จริง แต่พวกลาย สี หรือขอบเงินขอบทองที่ถูกเขียนไว้ อันนี้ไม่ทนความร้อนครับ ละลายได้ และจะปนเปื้อนในอาหาร เมื่อกินอาหารเข้าไป สิ่งเหล่านี้ก็จะไปสะสมเป็นพิษอยู่ในร่างกาย
      


       ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำ นอกจากจะดูแลเรื่องการเลือกภาชนะมาอุ่นอาหารในไมโครเวฟที่บ้านแล้ว สำหรับมิติของร้านสะดวกซื้อ ผู้บริโภคควรดูที่บรรจุภัณฑ์ หากเป็นพลาสติกที่สามารถอบในไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย จะมีคำบ่งชี้ เช่น Microwave Save ระบุไว้ที่บรรจุภัณฑ์
      

       แต่ถ้าอาหารชนิดไหนถูกนำเข้าอบโดยบรรจุภัณฑ์ไม่มีแจ้งว่าเป็นพลาสติกทนความร้อน ก็ควรจะถามพนักงานในร้าน หรือเรียกร้องไปยังเจ้าของเฟรนไชส์ร้าน ให้ชี้แจงว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ดังกล่าวปลอดภัยหรือไม่ เพราะมันเป็นเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยของเรา ปัญหาของผู้บริโภคบ้านเราคือ เราไม่ควรเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองทั้งที่ทำได้ ต้องช่วยกันครับ เพื่อสุขภาพของเราเอง” รศ.ดร.วินัย ทิ้งท้าย
      

       ในขณะที่ผศ.ดร.วรรณวิมล อารยะปราณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความกระจ่างเพิ่มเติมว่า ตามปกติ พลาสติกเมื่อถูกความร้อนจะสลายตัว แต่พลาสติกที่สามารถใช้อบไมโครเวฟได้นั้น จะต้องเป็นพลาสติกที่ทนความร้อน
      

       เมลามีนก็ไม่ใช่พลาสติกทนความร้อน มีคนเข้าใจผิดมากเกี่ยวกับเมลามีนและใช้เป็นภาชนะเพื่ออบไมโครเวฟกันเป็นจำนวนมาก อาจจะมีการโฆษณาจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ ประกอบกับบางครั้งที่เราเอาเมลามีนเข้าไมโครเวฟเพียง 1-2 นาที หรือ 5 นาที ความร้อนมันจะยังไม่ทำให้ละลายออกมาจนเห็นชัด แต่เมลามีนไม่ใช่พลาสติกทนความร้อนได้ถึงในระดับไมโครเวฟ และแม้จะอบและไม่ถึงขั้นละลายออกมาให้เห็น ก็มีโอกาสปนเปื้อนได้
      

       ผศ.ดร.วรรณวิมล ให้ความรู้ต่อไปอีกว่า ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ที่คนไทยมักเข้าใจผิด คือ การใช้ฟิล์มพลาสติกถนอมอาหาร หรือทึ่คุ้นปากกันในชื่อ แร็ป” ในการห่ออาหารหรือหุ้มภาชนะ ก่อนจะเอาเข้าไมโครเวฟนั้นเป็นเรื่องที่ปลอดภัย เพราะในความเป็นจริงแล้วความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
      

       การแร็ปอาหารอย่างถูกต้องและปลอดภัยนั้น ต้องให้พลาสติกแร็ปอยู่สูงเหนืออาหารอย่างน้อย 1 นิ้ว หากต่ำกว่านั้นพลาสติกแร็ปมีโอกาสจะละลายลงไปในอาหารได้” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ทิ้งท้าย





ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์